homeprovincearchitecturepaintsculpturecontact
 

พระธาตุนาดูน

ประวัติความเป็นมา

 เมื่อปี พ.ศ. 2522 ที่บ้านนาดูน มีการขุดพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่แสดงว่า บริเวณแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรื่องของนครจำปาศรี เมืองโบราณในอดีต โบราณวัตถุต่างๆ ที่ค้นพบ ได้นำไปแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดขอนแก่น และที่สำคัญยิ่งก็คือการพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในตลับทองคำ เงิน และสำริด สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 13 – 15 สมัยทวาราวดี นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูป พระพิมพ์ลายหลายแบบจำนวนมาก

ที่ตั้ง

พระธาตุนาดูน ตั้งอยู่ที่ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เป็นปูชนียสถานที่สร้างขึ้นเพื่อสิริมงคลแก่ภูมิภาค เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเรียกขานว่าเป็น "พุทธมณฑลแห่งอีสาน" รอบองค์พระธาตุมีบริเวณกว้างขวาง จัดแต่งเป็นสวนรุกชาติ ปลูกต้นไม้ในพุทธประวัติ นับเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาคู่บ้านคู่เมืองของชาวมหาสารคาม

อาคารเสนาสนะ

 

 

 

สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ค้นพบทำด้วยทองสำริด แยกเป็น 2 ส่วน คือ


1. ตัวสถูปหรือองค์ระฆัง แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ ตัวสถูปเป็นส่วนที่บรรจุ พระอังคาร (ขี้เถ้า) เทียนดอกไม้ และตอนคอสถูปเป็นส่วนที่บรรจุผอบพระบรมสารีริกธาตุ โดยผอบจะบรรจุพร้อมกัน 3 ชั้น คือ ผอบทองคำ จะซ้อนอยู่ในผอบเงิน ผอบเงินจะซ้อนอยู่ในผอบทองสำริด ทุกผอบมีฝาปิดมิดชิด ภายในผอบทองคำมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุ 1 องค์ มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวขุ่นขนาดเท่าเมล็ดข้าวสารหักครึ่ง หล่อเลี้ยงไว้ด้วยน้ำมันจันทน์เมื่อเปิดออกมาจะมีกลิ่นหอมมาก

2. ส่วนยอดทำด้วยทองสำริดกลมตัน ทำเป็นปล้องไฉนลูกแก้วและปลียอด ตอนต้นทำเป็นเกลียวสามารถปิดประกอบกับส่วนตัวองค์สถูปได้พอดี
ต่อมารัฐบาลอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างพระธาตุนาดูนขึ้นในบริเวณที่ขุดพบสถูป เนื้อที่ 902 ไร่ โดยใช้สถูปที่ค้นพบมาเป็นแบบในการก่อสร้างพระธาตุนาดูน องค์พระธาตุมีความสูง 50.50 เมตร จำลองรูปทรงแบบสมัยทวารวดี ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบ ก่อสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2530 โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ขึ้นประดิษฐานไว้ในองค์พระธาตุนาดูน เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530

 

นอกจากแหล่งโบราณสำคัญ รอบองค์พระธาตุนาดูน เป็นที่ตั้งของสถาบันวิจัยรุกขเวช ร่มรื่นด้วยพรรณไม้ ทั้งสวนสมุนไพร ลานไผ่ พิพิธภัณฑ์โรงเกวียนอีสาน และพิพิธภัณฑ์เรือนอีสาน จำลองบ้านผู้ไทย บ้านประมง บ้านดนตรี บ้านเครื่องมือดักสัตว์ บ้านผ้าทอ และบ้านหมอยา